พินัยกรรม

นายจักรกฤษณ์ ประมวลศิลป์

ชีวิตคนเรานั้นไม่มีความแน่นอน ไม่มีใครอาจทราบว่าตนเองนั้นจะมีอายุอยู่ได้ถึงเมื่อใด
เนื่องจากทุกคนล้วนเกิดมา ต้องประสบพบเจอกับความทุกข์ทรมานและความเจ็บป่วย รวมไปถึงการตาย
ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเราทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ความตายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกหนีได้เช่นกัน

ในขณะที่คนเรายังคงมีชีวิตอยู่ เชื่อว่าหลายๆคนนั้นคุ้นเคยกับคำว่า “มรดก หรือ พินัยกรรม”
ซึ่งก่อนที่เราทุกคนจะถึงแก่ความตายนั้น เราสามารถระบุความต้องการในการที่จะยกทรัพย์สินของตนเอง
ให้ตกแก่ผู้อื่นหรือทายาทที่ตนเองต้องการให้ได้ โดยการทำพินัยกรรม ซึ่งพินัยกรรมนั้นสามารถทำได้ตั้งแต่อายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยการเขียนเจตนาที่จะยกทรัพย์สินหรือทรัพย์มรดกของตนให้แก่ผู้อื่นตามความต้องการ ซึ่งการเขียนพินัยกรรมนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น การเขียนด้วยลายมือของตนเองทั้งฉบับ ,
การพิมพ์พินัยกรรมแบบธรรมธรรมดา หรือการทำพินัยกรรมฝ่ายเมืองซึ่งจะต้องดำเนินการที่อำเภอ
แต่ไม่ว่าจะดำเนินการจัดทำในรูปแบบใด พินัยกรรมนั้น ย่อมมีแบบและวิธีการที่แตกต่างกัน ผู้ทำพินัยกรรมควรศึกษารายละเอียดและทำความเข้าใจ เพื่อให้พินัยกรรมของตนเองนั้นสมบูรณ์และถูกต้องตามกฎหมาย

ในวันนี้ผู้เขียน จะนำเสนอวิธีการที่ทุกๆท่านสามารถจัดทำพินัยกรรมได้ในฉบับง่ายๆ และสามารถบังคับได้ตามกฎหมาย โดยในการจัดทำพินัยกรรมนั้นเราต้องรู้จักกับความหมายของพินัยกรรมเสียก่อน พินัยกรรม หมายความว่า การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สิน หรือในการต่างๆ
อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายแล้ว ดังนั้น การทำพินัยกรรมเป็นเรื่องที่เจ้ามรดกประสงค์จะยกทรัพย์สินของตนให้แก่ใครก็ได้  

โดยพินัยกรรมแบบที่ทุกท่านสามารถจัดทำได้ด้วยตนเอง หรือติดต่อสำนักงานกฎหมายและทนายความให้เป็นผู้จัดทำเพื่อความถูกต้องตามกฎหมายนั้น มีอยู่ 2 แบบ คือ 1. การทำพินัยกรรมแบบเขียนด้วยตนเองทั้งฉบับ และ 2. การทำพินัยกรรมแบบธรรมดาหรือการพิมพ์พินัยกรรม ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

การทำพินัยกรรมแบบเขียนด้วยตนเองทั้งฉบับ

  1. ต้องทำเป็นเอกสารโดยการทำเป็นหนังสือ
  2. ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยลายมือของตนเองทั้งฉบับ โดยในพินัยกรรมจะมีพยานหรือไม่มีก็ได้
  3. ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรมเพื่อพิสูจน์ความสามารถ และการทำก่อนหลังฉบับอื่นๆ
  4. ต้องลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น ผู้ทำพินัยกรรมจะใช้ลายพิมพ์นิ้วมือ หรือแกงได หรือเครื่องหมายอย่างอื่นไม่ได้
  5. การขูด ลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำ พินัยกรรมจะได้ทำด้วยมือตนเอง และลงลายมือชื่อกำกับไว้

การทำพินัยกรรมแบบธรรมดาหรือการพิมพ์พินัยกรรม

  1. ต้องพิมพ์เอกสารเป็นหนังสือ
  2. ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรมเพื่อพิสูจน์ความสามารถ และการทำก่อนหลังฉบับอื่นๆ
  3. ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน จะลงลายมือชื่อหรือพิมพ์นิ้วมือก็ได้ และพยานที่จะลงลายมือชื่อในพินัยกรรม นั้นจงลงลายมือชื่ออย่างเดียวพยานไม่สามารถพิมพ์ลายนิ้วมือแทนการลงชื่อได้