แอบอัดเสียงบันทึกคู่สนทนา ใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลได้หรือไม่

โดยหลักแล้วการบันทึกข้อความสนทนานั้นหากได้รับความยินยอมจากคู่สนทนาของเราให้สามารถอัดบันทึกเสียงการสนทนาย่อมสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลได้ในทุกกรณีอยู่แล้ว
แต่หากเป็นกรณีที่แอบบันทึกทึกเสียงของคู่สนทนาของเราโดยที่อีกฝ่ายไม่ได้รับรู้หรือไม่ได้รับความยินยอมนั้นจะใช้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลได้หรือไม่ แยกพิจารณาเป็น 2 กรณี

  1. ในคดีอาญา ตามกฎหมายแล้วสามารถแยกการได้มาซึ่งพยานหลักฐานได้ออกเป็น 2 กรณี กรณีแรก คือ“พยานหลักฐานเกิดขึ้นโดยชอบ และได้มาโดยชอบ” เช่นกรณีที่เราได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งให้บันทึกเสียงการสนทนาไว้ ก็ย่อมไม่เป็นปัญหาที่จะใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานให้ศาลรับฟังในชั้นศาลหากพยานหลักฐานเช่นว่านั้นน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยนั้นบริสุทธิ์หรือมีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ข้อควรระวังก็คือการเกิดขึ้นของพยานหลักฐานนั้นต้องไม่เกิดขึ้นด้วยวิธีการจูงใจ มีคำมั่นสัญญาว่าจะให้สิ่งใด ขู่เข็ญ หลอกลวงเพื่อให้พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายเรา
    เป็นไปได้คือให้ทางฝ่ายนั้นเป็นผู้พูดออกมาเองพยายามอย่าไปชี้นำให้เขาพูดตามที่เราต้องการมิเช่นนั้นบันทึกข้อความเสียงนั้นอาจกลายเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบซึ่งต้องห้ามไม่ให้ศาลรับฟังเพราะเกิดขึ้นจากการถูกชี้นำให้พูด แต่ถ้าทุกอย่างมันง่ายไปเสียหมดเช่นนั้นก็คงดีสิครับ โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อเราทำการบันทึกเสียงการสนทนากับคู่สนทนาของเรา หากเราจะขอความยินยอมเสียก่อนก็เป็นเรื่องธรรมดาอย่างมากที่อีกฝ่ายหนึ่งจะปฏิเสธไม่ยินยอมให้ฝ่ายเราบันทึกข้อความการสนทนาระหว่างกันนั้น ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีการแอบอัดเสียงบันทึกข้อความการสนทนาไว้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเราแอบอัดเสียงไว้โดยปราศจากความยินยอม จึงเกิดเป็นการได้มาซึ่งพยานหลักฐานในกรณีที่สอง คือ “พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่วิธีการได้มานั้นไม่ชอบ” กรณีเช่นนี้โดยหลักแล้วเมื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 พยานหลักฐานประเภทนี้ต้องห้ามไม่ให้ศาลรับฟังเป็นพยานหลักฐานเว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้น ๆ จะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสีย เช่นเรื่องนั้นจะต้องเป็นเรื่องร้ายแรงและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ยกตัวอย่างเช่นกรณีเจ้าพนักงานของรัฐใช้อำนาจโดยมิชอบต่อเรา เราสามารถบันทึกข้อความเสียงหรือแม้กระทั้งภาพถ่ายไว้ได้เพื่อใช้ในการป้องกันสิทธิของเรา แม้ว่ามันจะเป็นวิธีการได้มาที่ไม่ชอบแต่ก็ย่อมถือว่าพยานหลักฐานเหล่านั้นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสีย ศาลย่อมสามารถใช้ดุลพินิจรับฟังได้ (ฎ.50/2563) แต่หากเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในเรื่องเป็นความผิดเล็กน้อย หรือในความผิดต่อส่วนตัวนั้น ศาลสามารถเลือกที่จะไม่รับฟังบันทึกข้อความเสียงนั้น ๆ ได้ (ฎ.3728/2564) 
  2. ในคดีแพ่ง ตามกฎหมายเราบันทึกข้อความเสียงการสนทนานี้ตามกฎหมายแพ่งไม่ได้มีกฎหมายวางหลักห้ามไม่ให้รับฟังไว้และยิ่งในกรณีที่เป็นการนำสืบให้ศาลเห็นถึงข้อเท็จจริงที่สำคัญในการพิจารณาคดีจึงสามารถใช้ในชั้นศาล 

กล่าวโดยสรุปหากบรรลุหลักเกณฑ์ตามที่กล่าวมานี่พยานหลักฐานที่ได้มานั้นย่อมรับฟังได้ใน
ชั้นศาล แต่อย่างไรก็ตามปัญหาที่ควรคำนึงถึงต่อไปก็คงเป็นในเรื่องของน้ำหนักในการรับฟัง ทนายจึงขอแนะนำว่าว่าหากจะดำเนินการอัดเสียงการสนทนาคู่กรณีอีกฝั่ง ให้ดำเนินการอัดเสียงตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่ตัดทอนข้อความใดออกไป และพยายามแสดงให้คนฟังรู้ได้ว่าบันทึกการสนทนานั้น ๆ เพิ่งเริ่มต้นขึ้นและหากจะจบการสนทนาพยายามแสดงให้คนฟังรู้ได้ว่าจบการสนทนาแล้วด้วย อันเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยเพิ่มน้ำหนักของพยานหลักฐานของเราให้มากขึ้น