ลูกจ้างทำผิดแต่นายจ้างให้อภัยในความผิดของลูกจ้างแล้ว นายจ้างจะเลิกจ้างได้อีกหรือไม่

กรณีที่ลูกจ้างกระทำการทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หรือละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หากลูกจ้างกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กล่าวมาข้างต้น นายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าลูกจ้างจะกระทำความผิดตามที่มาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดไว้และนายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่หากมีพฤติการณ์ที่นายจ้างหักค่าจ้างเป็นการลงโทษและตกลงให้ลูกจ้างนั้นทำงานต่อไป ถือเป็นกรณีที่นายจ้างให้อภัยในความผิดของลูกจ้างไม่ติดใจเอาผิดต่อลูกจ้างแล้ว ฉะนั้น นายจ้างไม่อาจยกเอาความผิดของลูกจ้างดังกล่าวที่นายจ้างให้อภัยไปแล้วมาลงโทษลูกจ้างได้อีก เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ตัวอย่างเช่น นางสาว อ. เป็นลูกจ้างของ บริษัท ม. เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 15,000 บาท จ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 30 ของเดือน ระหว่างวันที่ 1 ถึง 7 สิงหาคม 2565 นางสาว อ. ไปอบรมคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้ขออนุญาตตามระเบียบและเข้าลงชื่ออบรมเพียง 2 วัน จึงเป็นการขาดงานเกิน 3 วันทำงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 119 (5) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (นายจ้างบอกเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย) แต่ นาย ก. ตำแหน่งรองประธานกรรมการของบริษัท ม. ได้ตกลงให้ นางสาว อ. ทำงานต่อไปและนางสาว อ. ก็ทำงานให้บริษัท ม. ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2565 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2565 และฝ่ายบุคคลของบริษัท ม. ได้หักค่าจ้างของ นางสาว อ. ที่ขาดงาน 5 วัน เป็นเงินจำนวน 2,500 บาท แล้ว เป็นการที่ บริษัท ม. ให้อภัยในความผิดของ นางสาว อ. ไม่ติดใจเอาผิด นางสาว อ. แล้ว บริษัท ม. ไม่อาจยกความผิดของ นางสาว อ. ดังกล่าวมาลงโทษ นางสาว อ. ได้อีก 

ส่วนวันที่ 30 สิงหาคม 2565 กรรมการของบริษัท ม. ลงมติเลิกจ้าง นางสาว อ. ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 นั้น มีข้อขัดแย้งกันระหว่าง นางสาว อ. และฝ่ายบุคคลของบริษัท ม. เรื่องจะหักค่าจ้างในวันขาดงานของ นางสาว อ. 5 วัน เป็นเงิน 2,500 บาท โดยนางสาว อ. ขอให้แบ่งการหักค่าจ้างเป็น 5 งวด งวดละ 500 บาท แต่ฝ่ายบุคคลของบริษัท ม. ไม่ยินยอมโดยต้องการหักค่าจ้างครั้งเดียวจำนวน 2,500 บาท ซึ่งในวันดังกล่าวกรรมการของ บริษัท ม. ได้ประชุมและมีมติเลิกจ้าง นางสาว อ. จึงเชื่อว่าสาเหตุที่ บริษัท ม. เลิกจ้าง นางสาว อ. ไม่ได้มีสาเหตุมาจากที่นางสาว อ. ขาดงาน แต่เกิดจาก นางสาว อ. ทักท้วงเรื่องการหักค่าจ้างเป็นผลให้เกิดเหตุขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชา จึงเป็นการเลิกจ้างโดยนางสาว อ. ไม่ได้กระทำความผิด นางสาว อ. ได้ค่าจ้างเพียงเดือนละ 15,000 บาท มีบุตรต้องอุปการะ 2 คน การหักค่าจ้างครั้งเดียวจะทำให้นางสาว อ. เดือดร้อน ที่นางสาว อ. ขอให้แบ่งหักค่าจ้างจึงมีเหตุอันสมควร การที่บริษัท ม. เลิกจ้าง นางสาว อ. จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น บริษัท ม. ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่นางสาว อ. 

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1980/2560)